คอกม้าแตก ๑

Asystasia salicifolia Craib

ไม้พุ่ม กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ คล้ายช่อเชิงลด ออกด้านเดียวที่ปลายยอดหรือซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีชมพูอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแคบ ปลายป่อง เมล็ด ๔ เมล็ด รูปทรงกลม ค่อนข้างแบน

คอกม้าแตกชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม สีน้ำตาลอ่อน มีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง ๑-๓.๘ ซม. ยาว ๗-๒๔ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสากประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ คล้ายช่อเชิงลด ออกด้านเดียวที่ปลายยอดหรือซอกใบ ยาว ๘-๑๖ ซม. ก้านช่อยาว ๕-๑๒ ซม. ใบประดับ ๑ คู่ ใบประดับย่อย ๑ คู่ ขนาดเล็ก ก้านดอกสั้นมาก ดอกสีขาวหรือสีชมพูอมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เล็ก ๆ กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแตร ด้านนอกสีม่วง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่สีขาวหรือสีชมพู มีจุดสีม่วงที่กลีบล่าง มีขนประปรายแฉกกลีบดอกเรียงแบบซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูค่อนข้างหนา มีขนต่อมประปราย อับเรณูรูป ขอบขนาน แตกตามช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนต่อมประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแคบ ปลายป่องกว้าง ๐.๔-๐.๕ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายสุดเป็นติ่งแหลมมีขนต่อมประปราย เมล็ดมี ๔ เมล็ด รูปทรงกลม ค่อนข้างแบน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม

 คอกม้าแตกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามที่รกร้างหรือตามชายป่าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอกม้าแตก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Asystasia salicifolia Craib
ชื่อสกุล
Asystasia
คำระบุชนิด
salicifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายวินัย สมประสงค์